VAR คือคำตอบสุดท้ายได้หรือยัง ถ้ายังเจอเหตุการณ์แบบนี้

น่าจะเป็นคำถามที่มีคำตอบชัด หลังการทำหน้าที่ของผู้ตัดสิน มีความผิดพลาดให้เห็นจะๆ อีกครั้งในนัดชิงฟุตบอลถ้วย โตโยต้า ลีก คัพ 2019 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะจังหวะก่อนได้ประตูขึ้นนำของ พีที ประจวบ เอฟซี ตั้งแต่ลูกที่ สุภโชค สารชาติ น่าจะได้ฟาวล์ แต่ไม่ได้ฟาวล์ ต่อเนื่องด้วยลูกที่น่าจะล้ำหน้าชัดเจน แต่ผู้กำกับเส้นไม่ยกธง

แม้หลายคนจะบอกว่า มันจบไปแล้ว แต่ในความรู้สึกของคนทำทีมฟุตบอลที่ลงทุนไปหลายร้อยล้าน นักฟุตบอลที่ทุ่มเทฝึกซ้อม แฟนบอลที่เชียร์ทีมรักอย่างหมดใจ แต่ต้องมาเสียความรู้สึกจากผู้ตัดสิน จะเห็นได้ว่า ผู้ตัดสินคนแล้วคนเล่า ได้ถูก สมาคมฯ ลงโทษพักการทำหน้าที่ แต่นี่ไม่ใช่การแก้ที่ถูกจุด เกาถูกที่คัน

เสียงเรียกร้องให้ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ นำเทคโนโลยี VAR (Video Assistant Referee) กลับมาใช้ จึงดังขึ้นเรื่อยๆ เพื่อลดคำครหา สำหรับ เทคโนโลยี VAR ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก หลังถูกนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบในฟุตบอลโลก 2018 รอบสุดท้าย ที่รัสเซีย เพราะสามารถตอบข้อสงสัยในจังหวะต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างเกมการแข่งขันในจังหวะสำคัญๆ ได้

ไทย ถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน ที่นำเทคโนโลยี VAR เข้ามาทดลองใช้ในฟุตบอลลีกเมื่อฤดูกาล 2018 ที่ผ่านมา แต่เป็นระบบมอนิเตอร์จากห้องปฏิบัติการ ที่ยกไปติดตั้งที่สนามแข่งขันในแต่ละครั้ง ในรูปแบบ “Decentralized : Mobile Solution” ซึ่งแตกต่างจาก ฟุตบอลโลก ที่ใช้รูปแบบที่เรียกว่า “Centralized” ซึ่งทุกสนามจะมีศูนย์กลางมอนิเตอร์อยู่ที่แห่งเดียว

ด้วยเหตุนี้เอง ในฤดูกาล 2019 สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และ บริษัท ไทยลีก จำกัด จึงพยายามปรับมาใช้ VAR ที่เป็นมาตรฐานเดียวกับฟุตบอลโลกและทั่วโลกใช้ แต่ได้ทดลองเพียงแค่ 3 สัปดาห์แรกเท่านั้น เนื่องจากทาง FIFA (สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ) และ IFAB (คณะกรรมการสมาคมฟุตบอลระหว่างประเทศ) มีความกังวลเกี่ยวกับมาตรฐาน และหวั่นกระทบภาพลักษณ์ของ VAR ที่อาจจะเกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจของทั้งสโมสร, โค้ช, นักเตะ และแฟนบอล

FIFA และ IFAB จึงประกาศให้ไทยลีกงดใช้ VAR ชั่วคราว พร้อมมาจัดอบความความรู้เกี่ยวกับ VAR ให้แก่สโมสร และผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ ผู้ตัดสิน เพื่อทำความเข้าใจตรงกัน และยกระดับมาตรฐานสู่สากล ก่อนจะนำไปใช้งานเต็มรูปแบบ

อย่างที่ทราบกันสำหรับเทคโนโลยี VAR จะใช้ตัดสินสถานการณ์ 4 รูปแบบ อันประกอบไปด้วย

1. เป็นประตู/ไม่เป็นประตู (ลูกข้ามเส้นหรือไม่ข้ามเส้น, มีการฟาวล์ก่อน, ล้ำหน้า, ลูกบอลออกจากสนามก่อนเข้าประตู)

2. จุดโทษ/ไม่จุดโทษ (ตำแหน่งของการฟาวล์, ฝ่ายรุกทำฟาวล์ก่อน, ลูกบอลออกนอกสนามก่อนการฟาวล์, การที่ผู้รักษาประตูหรือผู้ยิงประตู ทำผิดกติกาขณะเตะจุดโทษ)

3. ใบแดงโดยตรง (เจตนาป้องกันประตูผิดกติกาอย่างตั้งใจ, การทำผิดกติกาอย่างร้ายแรง)

4. ระบุตัวผู้เล่นผิดพลาด (เมื่อผู้ตัดสินคาดโทษหรือไล่ออกผู้เล่นผิดคน)

ล่าสุด ประมุขลูกหนังไทย พล.ต.อ. ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ยืนยันว่า “ตอนนี้ผู้ตัดสินของเราผ่านการอบรมจาก IFAB เรียบร้อยแล้วในเรื่องการใช้เทคโนโลยีวิดีโอช่วยตัดสิน แต่การใช้ VAR ทุกด้านต้องมีความพร้อม หากไม่มีการคลาดเคลื่อนหรือเปลี่ยนแปลง เราจะใช้ VAR ในฟุตบอล ช้าง เอฟเอ คัพ รอบชิงชนะเลิศ 2019 ที่สนามกีฬากองทัพบก ในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้)

ดังนั้น ในช่วง 3 นัดสุดท้ายของฟุตบอลไทยลีกที่เข้มข้น คนทำทีม นักเตะ และแฟนบอล ก็คงต้องฝากฝีฝากไข้ไว้กับ “ผู้ตัดสิน” ที่จะชี้เป็นชี้ตายว่า ทีมใดจะคว้าแชมป์และตกชั้น!!!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

//